“จำปาดะ” ไม้ผลสินค้า GI ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจังหวัดสตูลภาคใต้ของไทย
ประวัติความเป็นมา
จำปาดะ (Champedak หรือ cempedak) มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Artocarpus champeden จัดเป็น ไม้ผลสกุลเดียวกับขนุน (Arto carpus) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมลายู เจริญเติบโตได้ดีในเขตภาคใต้ที่มีฝนตกชุก ดินดำ ร่วน เนื้อดินลึก มีอินทรีย์วัตถุมาก ระบายน้ำและอากาศ ถ่ายเทดี ไม่ทนต่อสภาพน้ำขังค้างนาน มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ใบเดี่ยว และมีขนปกคลุม แผ่นใบ มียางสีขาวขุ่น เป็นผล กลุ่มคล้ายขนุนแต่มีขนาดเล็กกว่า รูปร่างผลทรงกระบอก เมื่อสุกเปลือกผลนิ่ม กลิ่นหอมแรงและรสชาติหวานจัด
จำปาดะกับขนุนมีความ ใกล้ชิดทางพันธุ์กรรม ซึ่งก่อให้เกิดความผันแปรคลายคลึง ทางรูปร่างลักษณะต่อกันเนื่องจากการผสมข้ามพันธุ์ หรือการกลายพันธุ์ ทำให้ เกิดเป็นจำปาดะขนุน (จ้าปาดะหนุน) ปัจจุบันพบที่ เกาะยอ จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูลโดยพันธุ์จำปาดะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มพันธุ์ คือ จำปาดะขนุนและจำปาดะบ้าน มีการปลูกกันทั่วไปในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมา ซึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากคือ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล จนถือว่าเป็นผลไม้ประจำจังหวัด
จำปาดะพันธุ์การค้าของจังหวัดสตูล จำนวน 7 สายพันธุ์ ได้แก่ ขวัญสตูล วังทอง สตูลสีทอง น้ำดอกไม้ ทองเกษตร ดอกโดน และพันธุ์พื้นเมือง โดยพันธุ์จำปาดะที่มีชื่อเสียงในจังหวัดสตูล คือ “ขวัญสตูล” กับ “วังทอง” เนื้อผลจำปาดะสามารถทำอาหารได้หลากหลาย รับประทานได้ทั้งเป็นผลไม้สด จำปาดะทอดข้าวเหนียวจำปาดะ ข้าวเกรียบจำปาดะ เค้กจำปาดะ เมล็ดอย่างเดียวนำไปต้มให้สุก ฯลฯ ซึ่งเป็นที่นิยมในภาคใต้ของไทย ประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
จำปาดะ (มลายู : cempedak , เจิมเปอดะก์ ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus integer) เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Moraceae ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับขนุน ถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย และเกาะนิวกินี สำหรับประเทศไทยเป็นผลไม้ท้องถิ่นขึ้นชื่อของภาคใต้ ปลูกมากในจังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา ชาวสวนผลไม้ในภาคใต้เรียกสั้นๆ ว่า “จำดะ” “จำปา”
ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มียางสีขาวขุ่น ใบเป็นมัน ผลคล้ายขนุนแต่เล็กกว่า ผลดิบเปลือกแข็ง มียางมาก
ผลสุก เปลือกนิ่มลง ยางน้อยลง เนื้อมีกลิ่นหอมและรสหวานจัดจำปาดะออกผลปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูฝน
ต้น
จำปาดะจัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง 8 – 20 เมตร ขนาดทรงพุ่ม 8 – 12 เมตร ไม้ผลัดใบ มีการแตกกิ่งก้านสาขามากมายเป็นทรงพุ่มกลมแน่นทึบ คล้ายขนุน เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา/อมดำผิวเปลือกเรียบหรือแตกเป็นรองตื้นๆ ตามแนวยาว ภายในเปลือกมีน้ำยางสีขาวขุ่น โดยจะออกผล ตามลำต้นและตามกิ่ง บริเวณกิ่งอ่อนจะมีขนอ่อนๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่ว
ใบ
ลักษณะของใบจำปาดะ เป็นใบเดี่ยว เรียงแบบเวียนสลับ แผนใบรูปรี รูปขอบขนาน ผิวใบเรียด้านบนเป็นมัน ด้านล่างค่อนข้างสาก ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบสอบเรียวและสั้น ใบกวาง 5 – 9 เซนติเมตร ยาว 10 – 15 เซนติเมตร เส้นใบแตกแบบขนนก ใบอ่อนสีเขียวอ่อน มีหูใบหุ้มยอด มีขนอ่อนสีขาวปกคลุมยอดอ่อนและหูใบ ใบแก่สีเขียวเข้ม ก้านใบยาว 1 – 3 เซนติเมตร
ดอก
ดอกจำปาดะ จะมีสีขาวหรือสีเหลือง ลักษณะของดอก เป็นช่อกระจุกแน่น ทรงกลมรี ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ออกดอกเดือนมีนาคม – เมษายน ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ดอกแยกเพศ
– ดอกเพศผู้ ออกบริเวณปลายกิ่ง ทรงกระบอก มีขนาดประมาณ 3 – 3.5 เซนติเมตร ก้านยาว ประมาณ 3 – 6 เซนติเมตร
– ดอกเพศเมีย ออกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร และเกสรตัวเมียจะมีขนาด 3 – 6 เซนติเมตร
ผล
ออกผลกลุ่มตามต้น แต่ละต้นจะมีก้านผลร่วมกัน ผลดกมากกว่าขนุนผลสด รูปทรงกระบอกยาว ขนาดใหญ่ รูปรีหรือทรงกลมยาว กว้าง 15 – 20 เซนติเมตร ยาว 30 – 45 เซนติเมตร ก้านผลยาว 5 – 12 เซนติเมตร บริเวณก้านผลมีน้ำยางสีขาวขุ่น
– ผลอ่อนสีเขียว เปลือกจะแข็ง มียางมาก
– ผลสุกสีเขียวอมเหลือง สีเหลือง มีหนามเป็นตุ่มๆ ไม่แหลม เปลือกนิ่มและมียางน้อยลง เมื่อสุกจะเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองและมีกลิ่นหอม น้ำหนักต่อผล 1 – 5 กิโลกรัม ส่วนเนื้อภายในมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 100 – 1,200 กรัม เริ่มสุกเดือน พ.ค. – ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ทาบกิ่งหรือติดตา
เนื้อผล (ยวง) สีเหลืองหรือเหลือง อมส้ม มีลักษณะเหนียวและกลิ่นหอม มีรสหวานจัดผลสุกจะส่งกลิ่นหอมฉุนเนื่องจากมีสารประกอบพวก อัลดีไฮด์
ก้านผล (แกน) ผลย้อยจะติดกับก้านผล มีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะแข็ง
เมล็ด มีลักษณะกลมรี คล้ายเมล็ดขนุน เปลือกหุ้มเมล็ดสีขาวใส เนื้อในสีขาวขุน มี 1 เมล็ดต่อผลย่อย
สายพันธุ์ของจำปาดะ
จำปาดะและขนุน เป็นผลไม้ในวงศ์ตระกูลเดียวกันจึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก โดยมีความแตกต่างโดยสังเขป ดังนี้
– ขนาดของผลจำปาดะจะเล็กกว่าขนุน
– ลักษณะของเปลือก เปลือกนอกจำปาดะเมื่อสุกจะไม่สวยเหมือนขนุน
– เปลือกจำปาดะ จะบางและปอกง่ายกว่าขนุน และไม่มียาง มีใยเหนียวหนืดเป็นยางมาคั่น ระหว่างเมล็ดเหมือนขนุน
– เนื้อจำปาดะ จะมีเนื้อนิ่มเละไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน
– เนื้อจำปาดะ จะเหนียวเคี้ยวไม่ค่อยขาด ไม่เหมือนขนุนที่เคี้ยวง่าย
– รสชาติจำปาดะ จะมีรสหวานจัด มีน้ำเยอะและหวานกว่าขนุน
– กลิ่นจำปาดะ มีกลิ่นแรงกว่าขนุน
เนื้อจำปาดะ เมื่อสุกแล้วสามารถกินสดเป็นผลไม้ ส่วนผลอ่อนตอนที่ยังไม่สุกมักนำมาปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารใต้ รวมทั้งเมล็ดและใบของจำปาดะก็สามารถนำมาปรุงอาหารได้เช่นกัน เช่น เมล็ดจำปาดะต้ม ใส่ในแกงไตปลา , ข้าวต้มมัดไส้จำปาดะ , ใบจำปาดะลวกจิ้มน้ำพริกกินเป็นผัก และจำปาดะทอด
จำปาดะมี 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
- จำปาดะขนุน
เนื้อนิ่มเหลว สุกงอมแล้วรสหวานเข้ม กลิ่นจัด ยวงมักไม่เต็มผล แกะยวงจากเปลือก ค่อนข้างยากติดผลตลอดปีแบบไม่มีรุ่นขนาดผลใหญ่กว่าจำปาดะบ้าน เช่น จำปาดะเกาะยอ
- จำปาดะ
ขนาดต้นใหญ่กว่าจำปาดะขนุน ออกดอกช่วงหน้าแล้งและติดผลคละรุ่น มียวงเต็มผล ติดผลดกมากบางครั้งติดผลเต็มรอบลำต้น เปลือกหนาแต่ฉีกหรือแกะจากยวงได้ง่าย รสหวานจัด กลิ่นแรง เนื้อเหลว เมล็ดกลมเมื่อต้มสุกแล้วรับประทานอร่อยกว่าจำปาดะขนุน เช่น จำปาดะของสตูล และพังงา
ทั้งสองสายพันธุ์ยังแยกเป็นพันธุ์มีเมล็ดและพันธุ์ไร้เมล็ดด้วย นอกจากนี้สายพันธุ์ย่อย สามารถแยกได้ตามพื้นที่การปลูก มีลักษณะเด่นและรสชาติแตกต่างกันไป เช่น
– จำปาดะพันธุ์ทองตาปาน แถบจังหวัดพังงา มีลักษณะเด่นคือ เนื้อในมีสีเหลืองทอง รสชาติดี ผลและเมล็ดค่อนข้างใหญ่ เปลือกผลค่อนข้างบาง ผิวเรียบตึง และหนามไม่แหลมเหมือนจำปาดะทั่วไป
– จำปาดะพันธุ์ขวัญสตูล มีลักษณะเด่นคือ มีเนื้อสีเหลืองออกสีส้ม ยุม(เนื้อผล)ใหญ่ เนื้อหนา ไม่เละกลิ่นไม่จัด และรสชาติไม่หวานมาก
คุณค่าทางโภชนาการของจำปาดะ (ผลสุก) ต่อ 100 กรัม
– พลังงาน 116 กิโลแคลอรี
– โปรตีน 3.0 กรัม
– ไขมัน 0.4 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 28.6 กรัม
– วิตามินเอ 200 หน่วยสากล
– วิตามินบี 10 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
– ธาตุแคลเซียม 20 มิลลิกรัม
– ธาตุฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
– ธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : Directorate Nutrition Department of Health (1992)
ประโยชน์ของจำปาดะ และสรรพคุณทางยา
- เนื้อผลสุกช่วยบำรุงร่างกาย
- จำปาดะมีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี
- เปลือกไม้ของจำปาดะมีสรรพคุณที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยรักษา โรคมาลาเรียได้
- เส้นใยของจำปาดะสามารถช่วยขับไขมันและสารพิษออกไปจากร่างกายได้
- เนื้อผลสุกใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ
- เนื้อผลอ่อนช่วยแก้อาการท้องเสีย
- เนื้อผลอ่อนช่วยฝาดสมาน
- เมล็ดจำปาดะช่วยขับน้ำนมในสตรี หลังคลอดและช่วยบำรุงร่างกายได้
- ในทางภาคเหนือของมาเลเซียที่ติดกับภาคใต้ของไทยนิยมใช้รากของจำปาดะมาเป็น ส่วนผสมของ ยาสมุนไพรแบบดั้งเดิมที่ใช้สำหรับหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร
- ผลสุกนิยมรับประทานสด เป็นผลไม้ มีรสหวานจัดหอมหวนชุ่มปากชุ่มคอ
- ใช้ทำเป็นขนมหวาน เช่น ข้าวต้มมัดไส้จำปาดะ เป็นสูตรเดียวกันกับข้าวต้มมัดทั่วไปแต่ต้องแกะ เอาเมล็ดออก เอาเฉพาะเนื้อมาใช้แทนกล้วย รสชาติหวาน หอมมันเข้มข้น หรือใช้ทำเป็นข้าวตอกน้ำกะทิจำปาดะ แกงบวดจำปาดะ เป็นต้น
- เมล็ดสามารถนำไปต้ม และใช้ทำเป็นอาหารคาว เช่น นำมาใส่แกงไตปลา แกงคั่วกะทิ หรือจะรับประทานร่วมกับขนมจีน
- ใบอ่อนจำปาดะใช้เป็นผักจิ้ม หรือใช้รับประทานร่วมกับส้มตำได้
- แก่นของต้นจำปาดะ นำไปต้มใช้ย้อมสีจีวรพระได้ หรือนำไปเป็นสีย้อมในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
- ลำต้นสามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ทำการเกษตร ฯลฯ
จำปาดะพันธุ์ทางการค้าและลักษณะเด่นของจำปาดะจังหวัดสตูล
“จำปาดะ” เป็นผลไม้พื้นเมืองที่เป็นสินค้าเกษตร (Agricultural Products) เป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับขนุน มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย และเกาะนิวกินี พบขึ้นกระจายทั่วไปในป่าแถบภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย และพม่า ปัจจุบันจำปาดะเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้อีกชนิดหนึ่ง ที่มีแนวโน้มความต้องการของตลาดมากขึ้น สภาพการทำสวนจำปาดะมักจะปลูกแบบผสมผสานร่วมกับผลไม้ชนิดอื่นๆ และเป็นสวนที่เก่าแก่ปลูกมาดั้งเดิม การดูแลรักษาไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการทำให้ผลผลิตที่ได้รับไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้มีการคัดเลือกพันธุ์ดีไปปลูก จะเห็นได้ว่าการปลูกของเกษตรกรในลักษณะเช่นนี้ส่วนมากจะเป็นจำปาดะที่ปลูก โดยการใช้เมล็ด จึงทำให้เกิดจำปาดะสายพันธุ์ต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแต่ละท้องถิ่น
การปลูกจำปาดะในจังหวัดสตูล ตามที่ผู้รู้ปราชญ์ชาวบ้านได้พูดคุยเล่าเรื่องราว สันนิษฐานว่าปลูกกันมานานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2489) ซึ่งพบหลักฐานในพื้นที่อำเภอควนโดน มีต้นจำปาดะที่มีอายุมากกว่า 80 ปี การปลูกจำปาดะในช่วงแรกๆ นิยมปลูกในบริเวณบ้าน เป็นลักษณะสวนผสมผสาน (สวนสมรม) หรือสวนหลังบ้าน เพื่อไว้บริโภคกันเป็นครัวเรือน ชาวบ้านได้เล่าว่ามีการปลูกจำปาดะเชิงพาณิชย์ครั้งแรกที่สวนบริเวณศาลากลางในปัจจุบัน และพันธุ์จำปาดะที่นำไปขายพันธุ์ต่อในหลายพื้นที่ก็นำมาจากต้นพันธุ์ที่สวนนี้
ในอดีตจังหวัดสตูลมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “ตะรุเตา ไก่ดำ จำปาดะ คนใจพระงามเลิศ เชิดสตูล” ซึ่งเป็นสำนวนชนะเลิศการประกวด สมัยนายไพรทูรย์ สุนทรวิภาค เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล (พ.ศ.2528 – 2531) โดยสมัยนั้นมีการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงไก่ดำ ส่งเสริมการปลูกจำปาดะ และจัดให้มีกิจกรรมการประกวดจำปาดะ ต่อมา ปี พ.ศ.2534 สมัย ร.ด.หิรัญ ศิษฏิโกวิท เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้มีการเปลี่ยนคำขวัญใหม่ คือ “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” และในปีนั้น จังหวัดสตูลได้มีการจัดงาน “วันจำปาดะและของดีเมืองสตูล” ขึ้นเป็นครั้งแรกที่อำเภอเมืองสตูล ต่อมาปี พ.ศ.2537 ได้เปลี่ยนสถานที่ จัดงานเป็นอำเภอควนโดน และจัดเป็นงานประจำจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ได้มีการพัฒนาและส่งเสริม ให้ปลูกเชิงพาณิชย์มากขึ้น การปลูกจำปาดะจึงเพิ่มมากขึ้น ผู้คนรู้จักและนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ทั้งในจังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันจำปาดะจัดเป็นไม้ผลที่เป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นของจังหวัดสตูล สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสตูลเป็นอย่างมาก
โดยในจังหวัดสตูลปลูกจำปาดะในพื้นที่อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอเมือง อำเภอท่าแพ อำเภอมะนัง อำเภอละงู และอำเภอทุ่งหว้า ด้วยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่เหมาะแก่การเพาะปลูกไม้ผล จึงทำให้จำปาดะของจังหวัดสตูล มีลักษณะและรสชาติที่โดดเด่น ซึ่งแตกต่างจากแหล่งปลูกอื่นๆ ดังนี้
– ผล ผลรูปทรงกลม กระบอกยาวน้ำหนักอยู่ในช่วง 2 – 8 กิโลกรัม เมื่อผลสุกเปลือกผลจะนิ่มสีเปลือกเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง เปลือกบาง ผิวตึง หนามเรียบ
– เนื้อ เมื่อผ่าผล เนื้อมีสีเหลืองอมส้ม (สีจำปา) สีเหลืองทอง เหลืองนวล จำนวนยวงต่อผลมาก ยวงใหญ่ ยวงติดกับแกนออกมาเกือบทั้งหมด แกนยวงเล็ก ลักษณะเนื้อจะหนา เส้นใยน้อย ไม่เป็นแป้ง เมล็ดเล็กและซังน้อย
– รสชาติ รสหวานหอม ไม่แฉะ ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นปานกลาง
จำปาดะพันธุ์การค้าของจังหวัดสตูลทั้ง 7 สายพันธุ์ ได้แก่ ขวัญสตูล สตูลสีทอง น้ำดอกไม้ ทองเกษตร ดอกโดน วังทอง และพันธุ์พื้นเมืองมีลักษณะประจำพันธุ์ของแต่ละพันธุ์ ดังนี้
1.พันธุ์ขวัญสตูล มีลักษณะประจำพันธุ์ ดังนี้
ทรงพุ่ม/ลำต้น/ใบ | ขนาดผล/รูปทรง/เปลือก | เนื้อ/ยวง/สี/เมล็ด |
– ทรงพุ่มกว้าง
– ความสูงของต้นประมาณ 8 – 12 เมตร – ใบค่อนข้างกลมเล็ก |
– ขั้วผลยาวปานกลาง เมื่อสุกขั้วจะดำ
– ผลมีขนาดปานกลาง – น้ำหนักประมาณ 2 – 5 กิโลกรัม – ผลมีรูปทรงกระบอก – เมื่อสุกเต็มที่แล้ว หนามค่อนข้างเรียบ – ร่องหนามเข้ม เห็นชัดเจน |
– ยวงใหญ่
– เนื้อมีสีเหลืองส้ม (จำปา) – เนื้อหนาและแห้ง – รสหวาน กลิ่นไม่จัด – เปลือกบาง – เมล็ดค่อยข้างเล็ก – แกนยวงเล็ก ยวงติดกับแกน ออกมาเกือบทั้งหมด – 29 – 30 ปริกซ์ |
2) พันธุ์สตูลสีทอง มีลักษณะประจำพันธุ์ ดังนี้
ทรงพุ่ม/ลำต้น/ใบ | ขนาดผล/รูปทรง/เปลือก | เนื้อ/ยวง/สี/เมล็ด |
– ทรงพุ่มกว้าง – ใบค่อนข้างยาวเรียว – ใบสีเขียวเข้ม – เส้นใบนูนชัดเจน |
– ขั้วผลยาวปานกลาง
– ผลมีขนาดปานกลาง – น้ำหนักประมาณ 2 – 5 กิโลกรัม – ผลเป็นรูปทรงกระบอก – เมื่อสุกเต็มที่แล้ว หนามแหลมนูนชัดเจน – เปลือกบาง |
– ยวงขนาดปานกลาง
– เนื้อมีสีส้มเข้ม – เนื้อหนา – รสหวานฉ่ำ – มีกลิ่นแรง – เมล็ดค่อนข้างเล็ก – แกนยวงเล็ก – ยวงติดกับแกนออกมา เกือบทั้งหมด |
3) พันธุ์น้ำดอกไม้ มีลักษณะประจำพันธุ์ ดังนี้
ทรงพุ่ม/ลำต้น/ใบ | ขนาดผล/รูปทรง/เปลือก | เนื้อ/ยวง/สี/เมล็ด |
– ทรงพุ่มกว้าง
– ใบเรียวยาว – เส้นใบชัดเจน |
– ขั้วผลยาว
– ผลขนาดปานกลาง – น้ำหนักประมาณ 3 – 5 กิโลกรัม – ผลเป็นรูปทรงกระบอก – หนามนูนชัดเจน |
– ยวงกลม
– ยวงแน่น – เนื้อหนา – มีสีเหลือง |
4) พันธุ์ทองเกษตร มีลักษณะประจำพันธุ์ ดังนี้
ทรงพุ่ม/ลำต้น/ใบ | ขนาดผล/รูปทรง/เปลือก | เนื้อ/ยวง/สี/เมล็ด |
– ทรงพุ่มแคบ
– ต้นสูงประมาณ 10 – 12 เมตร – ใบยาวใหญ่ สีเขียวเข้ม |
– ขั้วผลสั้น
– ผลขนาดปานกลาง – น้ำหนักประมาณ 3 – 5 กิโลกรัม – ผลเป็นรูปทรงกระบอก – หนามมีขนาดเล็ก นูน หนามแน่น |
– ยวงขนาดปานกลาง
– เนื้อมีสีส้มเหลือง – เนื้อหนาปานกลาง – ยวงติดกับแกนออกมา เกือบทั้งหมด |
5) พันธุ์ดอกโดน มีลักษณะประจำพันธุ์ ดังนี้
ทรงพุ่ม/ลำต้น/ใบ | ขนาดผล/รูปทรง/เปลือก | เนื้อ/ยวง/สี/เมล็ด |
– ทรงพุ่งกว้าง
– ต้นสูงประมาณ 8 – 12 เมตร – ใบเล็กเรียว ยาว – สีเขียวเข้ม – เส้นใบชัดเจน |
– ขั้วผลยาว
– ผลขนาดปานกลาง – น้ำหนักประมาณ 3 – 5 กิโลกรัม – ผลเป็นทรงกระบอก – หนามนูน |
– ยวงเยอะ
– เนื้อแห้ง เนื้อหนาปานกลาง |
6) พันธุ์วังทอง มีลักษณะประจำพันธุ์ ดังนี้
ทรงพุ่ม/ลำต้น/ใบ | ขนาดผล/รูปทรง/เปลือก | เนื้อ/ยวง/สี/เมล็ด |
– ทรงพุ่มกว้าง
– ความสูงต้นประมาณ 10 – 15 เมตร – ใบยาวเรียว สีเขียวเข้ม |
– ผลขนาดปานกลาง
– น้ำหนักประมาณ 2 – 5 กิโลกรัม – เปลือกบางแข็ง – หนามกรวยตื้น แหลม |
– เนื้อมีสีเหลือง
– ยวงขนาดปานกลาง – เนื้อแห้งและหนาปานกลาง – รสชาติหวาน – 30 – 31 ปริกซ์ |
7) พันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ มีลักษณะประจำพันธุ์ ดังนี้
ทรงพุ่ม/ลำต้น/ใบ | ขนาดผล/รูปทรง/เปลือก | เนื้อ/ยวง/สี/เมล็ด |
– ความสูงต้นของประมาณ
10 – 15 เมตร |
– ผลขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่
– น้ำหนักประมาณ 2-8 กิโลกรัม |
– ยวงขนาดเล็กถึงปานกลาง
– เหมาะสำหรับการแปรรูป (ทอด) |
จำปาดะที่ปลูกในจังหวัดสตูล ยังมีอีกหลากหลายสายพันธุ์กระจัดกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังมีจำปาดะพันธุ์พื้นเมืองที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อและไม่เป็นที่รู้จักอีกเป็นจำนวนมาก จำปาดะพันธุ์พื้นเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดสตูล ได้แก่ พันธุ์ตะรุเตา พันธุ์ห้วยทราย พันธุ์ทองดีพันธุ์กาหลง 36 พันธุ์พญาวัง พันธุ์ก้านยาว ฯลฯ
แสดงความคิดเห็นของคุณ
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น