ข่าวที่ 79/2566 วันที่ 25 กรกฎาคม 2566
สศท.5 ลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ แหล่งผลิตโคขุนพันธุ์ลูกผสมวากิว เนื้อคุณภาพแดนอีสานใต้
นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์นับเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพการผลิตและสร้างมูลค่าให้กับจังหวัด ซึ่งจากข้อมูลสถิติการเกษตรของประเทศไทย ปี 2565 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า มีจำนวน 579,746 ตัว หรือร้อยละ 6.18 ของจำนวนโคเนื้อทั้งประเทศโดยจังหวัดสุรินทร์ได้สนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการเลี้ยงโคขุนพันธุ์ลูกผสมวากิว ซึ่งได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพเนื้อที่ดีเยี่ยม มีไขมันแทรกกล้ามเนื้อสูง รสชาติของเนื้อมีความนุ่มหอม รวมถึงตลาดมีความต้องการสูง ได้แก่ ร้านสเต็ก ภัตตาคาร และโรงแรม
สศท.5 ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเกษตรกรผู้เลี้ยงและการจำหน่ายโคขุนพันธุ์ลูกผสมวากิวของจังหวัดสุรินทร์ ในปี 2565 โดยสำรวจเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 25 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เลี้ยงโคขุนพันธุ์ลูกผสมวากิวและจำหน่ายได้ในปี 2565 พบว่า มีพื้นที่เลี้ยงครอบคลุม 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง เขวาสินรินทร์ ปราสาท ท่าตูม ลำดวน สังขะ และรัตนบุรี เกษตรกรนิยมเลี้ยงแบบประณีต (ยืนคอก) โดยใช้อาหารข้นเป็นหลักในการเลี้ยง ซึ่งเกษตรกรจะนำลูกโคอายุ 8 – 12 เดือน (น้ำหนัก 180 – 200 กิโลกรัม/ตัว) หลังจากหย่านมเข้าเลี้ยงแบบขุน ระยะเวลาการเลี้ยงขุน 18 – 20 เดือน เพื่อให้มีน้ำหนักตามเกณฑ์อยู่ที่ 550 – 650 กิโลกรัม/ตัว ก่อนการจำหน่าย
สำหรับการจำหน่ายโคขุนพันธุ์ลูกผสมวากิว เมื่อเกษตรกรขุนโคได้ครบอายุและขนาดน้ำหนักตามเกณฑ์แล้วจะจำหน่ายโคขุนให้ผู้รับซื้อ โดยผู้รับซื้อเป็นผู้กำหนดโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานเพื่อให้เกษตรกรนำโคขุนไปเชือด ซึ่งมี 2 แห่ง คือ โรงฆ่าสัตว์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และโรงฆ่าสัตว์ของสหกรณ์การเกษตรหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร หลังจากเชือดโคขุน จะเอาเครื่องใน เขา ข้อเท้า และหาง ออกให้หมด และบ่มซากโคขุน จำนวน 7 วัน จากนั้นจะมีการตัดเกรดคุณภาพเนื้อตั้งแต่ เกรด 1 – 6 เพื่อกำหนดราคาในการจำหน่าย ซึ่งราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้อยู่ที่ 80,000 – 120,000 บาท/ตัว หรือ 200 – 500 บาท/กิโลกรัม ด้านแหล่งจำหน่ายที่สำคัญ ได้แก่ ร้อยละ 35 ส่งจำหน่ายวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจรตำบลสลักได อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ รองลงมา ร้อยละ 30 ส่งจำหน่ายผู้ค้าเนื้อโคขุนนอกจังหวัด ร้อยละ 27 ส่งจำหน่ายสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร และอีกร้อยละ 8 ดำเนินการชำแหละโคขุนจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง
“การเลี้ยงโคขุนพันธุ์ลูกผสมวากิว เป็นการเลี้ยงขุนที่มีระยะเวลาการเลี้ยงนาน และต้องใช้อาหารข้นในการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรต้องรับภาระต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงที่สูง ประกอบกับลูกโคขุนที่มีคุณภาพดีสำหรับนำมาขุนจะมีราคาแพงและหายาก อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงโคขุน ด้วยการให้องค์ความรู้ในการเลี้ยงโคขุน การผลิตลูกโคคุณภาพ การผลิตอาหารข้น การเลี้ยงโคขุนในฟาร์มปลอดโรคมาตรฐาน GFM และ GAP และการรวมกลุ่มกันเลี้ยง เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด และสร้างรายได้ให้เกษตรกร ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าว สศท.5 จะนำข้อมูลไปจัดทำเป็นงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เรื่อง การผลิตและการตลาดโคขุนพันธุ์ลูกผสมวากิว จังหวัดสุรินทร์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการโคขุนพันธุ์ลูกผสมวากิวในจังหวัดสุรินทร์ให้มีประสิทธิภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์และวางแผนการบริหารจัดการ ซึ่งจะเผยแพร่สู่สาธารณชนในโอกาสต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลผลการสำรวจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 ได้ที่ 0 4446 5079 หรืออีเมล zone5@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
E-mail : nabc@nabc.go.th
เบอร์โทร : 0-2579-8161
หากมีข้อสงสัยในการเข้าสู่ระบบ ติดต่อที่ e-mail:
nabc@nabc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ |
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ © 2022 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์