ข่าวที่ 41/2566 วันที่ 25 เมษายน 2566
สศก. คาดสับปะรดปัตตาเวียปีนี้ ให้ผลผลิตรวม 1.59 ล้านตัน เผย ภาคกลาง-อีสาน-ใต้ ผลผลิตออกมาก เดือนพฤษภาคมนี้
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยสถานการณ์สับปะรดปัตตาเวีย ปี 2566 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ มีนาคม 2566) ไทยมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งประเทศรวม 417,348 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 446,987 ไร่ (ลดลง 29,639 ไร่ หรือร้อยละ 6.63) เนื่องจากปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยและสารเคมี และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ทุเรียน และมะพร้าว และในบางพื้นที่ปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังโรงงาน เนื่องจากราคามันปะหลังในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดีและยังใช้ปุ๋ยเคมีน้อยกว่า
ผลผลิตรวมทั้งประเทศคาดว่ามีจำนวน 1.59 ล้านตัน ลดลงจากปีที่มาที่มีปริมาณ 1.71 ล้านตัน (ลดลง 0.12 ล้านตัน หรือร้อยละ 7.39) ขณะที่ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยทั้งประเทศ 3,804 กิโลกรัม ลดลงจาก 3,835 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.81 เนื่องจากพื้นที่ที่ลดลงประกอบกับเกษตรกรลดการใส่ปุ๋ย อันเป็นผลมาจากราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลงด้วย ผลผลิตออกมากที่สุดช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน ประมาณ 0.60 ล้านตัน (ร้อยละ 38 ของผลผลิตทั้งประเทศ) และช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ประมาณ 0.39 ล้านตัน (ร้อยละ 24 ของผลผลิตทั้งประเทศ)
พื้นที่ปลูกสับปะรดปัตตาเวียมากที่สุดของไทย อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง (ร้อยละ 70.73) โดยมีผลผลิตออกมากในเดือนพฤษภาคม รองลงมาคือภาคเหนือ (ร้อยละ 19.63) โดยมีผลผลิตออกมากในเดือนมิถุนายนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 8.11) โดยมีผลผลิตออกมากในเดือนพฤษภาคม และภาคใต้ (ร้อยละ 1.53) โดยมีผลผลิตออกมากในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน จังหวัดที่มีผลผลิตมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และราชบุรีตามลำดับ ขณะที่ราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2566 ณ เดือนมีนาคมเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.71 บาท/กก. ซึ่งสูงกว่าราคาเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปี 2565 มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6.55 บาท/กก. โดยราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี
สำหรับคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ โดยมีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายเลขานุการ ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการสับปะรดปี 2566 โดยใช้กลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด (เซลล์แมนจังหวัด) เพื่อเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า กระจายผลผลิต ส่งเสริมการบริโภค ส่งเสริมการแปรรูป พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์การผลิต และการตลาด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทราบเป็นระยะ
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้ร่วมกันขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านสับปะรด พ.ศ. 2566 – 2570เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางระดับโลกในการผลิต แปรรูป และสร้างคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน” ในเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ 1) พื้นที่ปลูกได้รับการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการเพิ่มระบบน้ำ GAP และปรับพื้นที่ตาม Agri – Map 2) การเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด 3) การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรด เพื่อนำไปสู่ 4) การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ทั้งนี้ สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าสับปะรดปัตตาเวีย หรือพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนปฏิบัติการข้อมูลการเกษตร ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2561 2870 และอีเมล prcai@oae.go.th
************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร และ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
E-mail : nabc@nabc.go.th
เบอร์โทร : 0-2579-8161
หากมีข้อสงสัยในการเข้าสู่ระบบ ติดต่อที่ e-mail:
nabc@nabc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ |
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ © 2022 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์