นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินงานของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดลพบุรี ซึ่งนับเป็นตัวอย่างของ ศกอ. ที่ประสบความสำเร็จ คือ นายวินัย พรมสุภาพ เศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จังหวัดลพบุรี ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และเป็นประธานกลุ่มปลูกพืชผักบ้านคลองกลุ่ม ได้รับรางวัลเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ดีเด่น ประจำปี 2566 นับเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่มีความมุ่งมั่นในการผลิตผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP ส่งออกตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภค
จากการติดตามของ สศท.7 โดยสัมภาษณ์ นายวินัย พรมสุภาพ บอกเล่าว่า เกษตรกรแถบนี้มีรายได้จากการปลูกพืชไร่เพียงอย่างเดียว แต่ในปี 2554 ตนได้รวบรวมเกษตรกรมาปลูกผักหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้เสริมในระหว่างรอเก็บเกี่ยวพืชไร่ โดยมีเกษตรกรสมาชิก จำนวน 75 ราย เนื้อที่เพาะปลูก 1,500 ไร่ โดยผลิตผักปลอดภัยมาตรฐาน GAP จนประสบความสำเร็จ ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และส่งออกไปขายยังประเทศอังกฤษและเยอรมัน รวมทั้งสิ้น 11 ชนิด ได้แก่ ผักชีไทย ชะอม มะละกอ ถั่วฝักยาว ตะไคร้ พริกขี้หนู มะเขือพวง มะเขือเจ้าพระยา โหรพา ใบแมงลัก และบวบเหลี่ยม โดยมีการนำองค์ความรู้ด้านการใช้สารชีวภาพ เพื่อผลิตปุ๋ยหมักช่วยลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลผลิตต่อไร่
หากจำแนกต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนของผักที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผักชีไทย ใน 1 ปี ปลูกได้ 2 รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,450 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 800 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 56,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 51,550 บาท/ไร่/รอบการผลิต มะละกอ ใน 1 ปี ปลูกได้ 1 รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,900 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 6,480 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 97,200 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 91,300 บาท/ไร่/รอบการผลิต และตะไคร้ ใน 1 ปี ปลูกได้ 1 รอบการผลิต ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,750 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 4,000 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ย 48,000 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 45,250 บาท/ไร่/รอบการผลิตสถานการณ์การตลาด ผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มส่งจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางผู้ส่งออกผักไปยังตลาดต่างประเทศ และสมาชิกกลุ่มมีการวางแผนการผลิตร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด
ทั้งนี้ นายวินัย ยังได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชนและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องผ่าน ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี อาทิ ความรู้เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุน การผลิตด้วยปุ๋ยหมัก การเพาะปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลูกผักหมุนเวียน โดยให้ความรู้ตั้งแต่ การปลูก การดูแลรักษา การป้องกันโรค รวมไปถึงการขยายพันธุ์รวมถึงเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรพัฒนานิคม และนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองกลุ่ม โดยมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานกว่า 500 คน/ปี และแนวทางการดำเนินงานของ ศพก. ในอนาคตมีการตั้งเป้าหมายจะพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจหรือมีความประสงค์จะเข้าศึกษาดูงานสามารถติดต่อได้ที่ นายวินัย พรมสุภาพ ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โทร. 08 1706 2434
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
E-mail : nabc@nabc.go.th
เบอร์โทร : 0-2579-8161
หากมีข้อสงสัยในการเข้าสู่ระบบ ติดต่อที่ e-mail:
nabc@nabc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ |
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ © 2022 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์