ข่าวที่ 56/2566 วันที่ 26 พฤษภาคม 2566
สศท.1 เผย เกษตรกร จ.เชียงราย ดึง ‘ระบบน้ำหยด’ ประยุกต์ใช้ไร่มันฝรั่ง ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต
นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า มันฝรั่งนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของภาคเหนือ โดยจังหวัดเชียงรายนับเป็นแหล่งผลิตมันฝรั่งสำคัญอันดับ 2 ของภาคเหนือ รองจากจังหวัดตาก มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 8,322 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22 ของเนื้อที่เพาะปลูกภาคเหนือมีเกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 1,618 ราย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสำคัญ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่สาย อำเภอเวียงป่าเป้าและอำเภอเทิง
ปัจจุบันเกษตรกรจังหวัดเชียงรายได้เริ่มนำ “ระบบน้ำหยด” มาใช้ในกระบวนการผลิตมันฝรั่ง จำนวน 1,828 ไร่ ซึ่งการปลูกแบบระบบน้ำหยด (drip irrigation) คือ ระบบให้น้ำทางผิวดิน (surface system) ที่ใช้แรงดัน 5 -15 เมตร และอัตราการไหลของหัวจ่ายน้ำ 1 – 8 ลิตร/ชั่วโมง ปล่อยน้ำจากหัวจ่ายน้ำสู่ดินโดยตรง แล้วซึมผ่านดินไปในบริเวณเขตรากพืช สามารถให้น้ำและสารอาหารพืช ในปริมาณที่เหมาะสมช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมทั้งปริมาณน้ำและสารอาหารที่พืชต้องการได้ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ การให้น้ำผ่านระบบน้ำหยดช่วยให้น้ำไม่ท่วมขังในแปลง รากและหัวมันฝรั่งในดินไม่เน่า ส่งผลให้อัตราการงอกของต้นมันฝรั่งเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงได้รับปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว
สศท.1 ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพเชิงเทคนิคและการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพการผลิตจากการใช้ระบบน้ำหยดในการปลูกมันฝรั่งของจังหวัดเชียงราย เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนของเกษตรกรที่ใช้ระบบน้ำหยดในการเพาะปลูกมันฝรั่ง เปรียบเทียบกับเกษตรกรที่ไม่ใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งได้รวบรวมข้อมูล จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 รายแบ่งเป็นกลุ่มเกษตรที่ใช้ระบบน้ำหยด จำนวน 20 ราย และกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ใช้ระบบน้ำหยด 20 ราย ทั้งนี้ เกษตรกร นิยมปลูกพันธุ์โรงงาน เนื่องจากได้มีการประกันราคารับซื้อกับบริษัทเอกชน ทำให้ทราบราคาขายล่วงหน้าก่อนการเพาะปลูก ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตมันฝรั่งปีละ 1 ครั้ง โดยเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกช่วงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนของปีถัดไป
จากผลการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนปี 2565 พบว่า เกษตรที่ใช้ระบบน้ำหยด มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 32,560.28 บาท/ไร่/ปี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3,809.14 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 42,405.01 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไรสุทธิ) 9,844.73 บาท/ไร่/ปี ส่วนเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ระบบน้ำหยด มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 30,865.62 บาท/ไร่/ปี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,937.68 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 32,755.13 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไรสุทธิ) 1,889.51 บาท/ไร่/ปี ขณะที่ราคามันฝรั่งที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา ปี2565 ที่ 11.15 บาท/กิโลกรัม (ราคาประกัน) ซึ่งเกษตรกรจะขายผลผลิตทั้งหมดให้กับตัวแทนรับซื้อผลผลิตของบริษัทเอกชนที่เกษตรกรได้มีการทำสัญญาประกันราคารับซื้อไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น หากเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้ระบบน้ำหยด แม้จะมีต้นทุนสูงกว่าเฉลี่ยร้อยละ 5.20 แต่เมื่อดูความคุ้มค่าของผลตอบแทนที่ได้รับแล้ว เกษตรกรจะมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าร้อยละ 22.75 และมีผลตอบแทนสุทธิ (กำไรสุทธิ) กว่าเกษตรกรทั่วไป ถึงร้อยละ 80.81
“การนำระบบน้ำหยดมาใช้ในการปลูกมันฝรั่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถประหยัดแรงงานคนในการให้น้ำแปลงปลูกมันฝรั่ง และสามารถให้สารเคมีและฮอร์โมนผ่านระบบน้ำหยดได้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีและฮอร์โมนลดลง การให้น้ำผ่านระบบน้ำหยด ทำให้น้ำไม่ท่วมขังในแปลงมันฝรั่ง อีกทั้งทำให้อัตราการงอกของต้นมันฝรั่งสูงกว่า และช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งจึงควรนำระบบน้ำหยดมาใช้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยศึกษาเรียนรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากใช้ระบบน้ำหยด รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ระบบน้ำหยดของหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น หากท่านใดสนใจข้อมูลเชิงลึกเรื่องประสิทธิภาพเชิงเทคนิคและการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพการผลิตจากการใช้ระบบน้ำหยดในการปลูกมันฝรั่งของจังหวัดเชียงราย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร.0 5312 1318 อีเมล zone1@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวทิ้งท้าย
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
E-mail : nabc@nabc.go.th
เบอร์โทร : 0-2579-8161
หากมีข้อสงสัยในการเข้าสู่ระบบ ติดต่อที่ e-mail:
nabc@nabc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ |
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ © 2022 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์