นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาการจัดการโซ่อุปทานและแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าว ปี 2566 ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล โดยนำฟางข้าววัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร และการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
จากผลการศึกษาของ สศท.9 พบว่า ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ มีปริมาณฟางข้าวรวม 153,640 ตันโดยจังหวัดสงขลา มีปริมาณฟงข้าว 78,728 ตัน จังหวัดพัทลุง มีปริมาณฟางข้าว 62,508 ตัน จังหวัดตรัง มีปริมาณฟางข้าว 4,874 ตัน และจังหวัดสตูล 7,530 ตัน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 123 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกร
ผู้ปลูกข้าว จำนวน 83 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว จำนวน 20 ราย และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จำนวน 20 ราย โดยได้มีการบริหารจัดการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าวของพื้นที่ 4 จังหวัด ภาคใต้ตอนล่าง ดังนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ส่วนใหญ่นำฟางข้าวเพื่อใช้ประโยชน์เอง ร้อยละ 62.80 ของปริมาณฟางข้าวทั้งหมด มีทั้งรูปแบบฟางก้อนและฟางไม่อัดก้อน ส่วนที่เหลือร้อยละ 37.20 นำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์เพื่อการค้าในรูปแบบฟางก้อน โดยเกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าจากการขายฟางข้าวอัดก้อนเฉลี่ย เฉลี่ย 35.75 บาท/ก้อน หรือ 746.10 บาท/ไร่ กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว ให้บริการแปรรูปอัดก้อนฟางข้าว ค่าบริการ ในราคา 12 – 30 บาท/ก้อน (ไม่รวมค่าขนส่ง) และรับซื้อฟางข้าวจากเกษตรกรและผู้รวบรวม/แปรรูปรายอื่น โดยรับซื้อแบบอัดก้อน ราคา 35.07 บาท/ก้อน กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ส่วนใหญ่ร้อยละ 90.90 นำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงปศุสัตว์ ใช้เป็นอาหาในช่วงที่หญ้าขาดแคลน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนเนื่องจากบางพื้นที่เกิดภาวะน้ำท่วม ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ มีค่าใช้จ่ายค่าอาหารลดลง 31.13 บาท/ตัว/วัน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีค่าใช้จ่ายค่าอาหารลดลง 144.45 บาท/ตัว/วัน ส่วนอีกร้อยละ 9.10 เกษตรกรผู้ปลูกพืช นำฟางข้าว
ใช้คลุมโคนต้นทุเรียน
ด้านแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าว ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้กำหนด 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านการถ่ายทอดความต้องการ เกษตรกรมีการถ่ายทอดความต้องการในด้านปริมาณและคุณภาพผ่านสมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชั่นไลน์ ส่วนผู้ประกอบการและผู้ใช้ประโยชน์มีการถ่ายทอดความต้องการด้านปริมาณและคุณภาพผ่านสมาร์ทโฟน แอพพลิเคชั่นไลน์ และเฟสบุ๊ค ทั้งนี้การถ่ายทอดเพื่อจะได้ทราบความต้องการ และได้บริหารจัดการได้ตรงตามความต้องการ ด้านการรวมตัวกันจัดหาฟางข้าว เกษตรกรมีการซื้อขายฟางข้าวด้วยตนเองเป็นหลักเนื่องจากปริมาณวัตถุดิบมีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่ปัจจัยสภาพอากาศในแต่ละปี ส่วนผู้ประกอบการและผู้ใช้ประโยชน์ มีการจัดซื้อร่วมกัน ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกัน เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ใช้ประโยชน์ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การผลิตและราคาฟาง ด้านการปรับปรุงการบริหารงาน เกษตรกรมีการจัดการฟางข้าวเบื้องต้นก่อนการจำหน่าย มีการใช้พื้นที่และเครื่องจักรร่วมกัน ส่วนผู้ประกอบการและผู้ใช้ประโยชน์ มีการสืบราคาฟางก่อนการซื้อและการจำหน่ายฟางข้าว ด้านการแบ่งกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ กลุ่มของผู้ใช้ประโยชน์เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม และเกษตรกรผู้ปลูกพืช และด้านการวัดสมรรถนะ เกษตรกรมีการเก็บรักษาฟางข้าวไว้ เพื่อใช้ประโยชน์และเพื่อรอจำหน่าย มีการจัดตารางเพื่อการขนส่งตามความต้องการของลูกค้า ส่วนผู้ประกอบการ และผู้ใช้ประโยชน์มีการเก็บรักษาฟางข้าวเพื่อรอจำหน่ายและเพื่อรอการใช้ประโยชน์ในโรงเรือน/โกดัง
“สำหรับข้อมูลดังกล่าวจะเป็นแนวทางเชิงนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาส่งเสริม ต่อยอดการบริหารจัดการฟางข้าว รวมถึงการให้ความรู้ในการเพิ่มช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่าย การทำ MOU ระหว่างกลุ่มแปลงใหญ่กับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการใช้ฟางข้าวโดยตรง ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างมาตรฐานฟางข้าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ประโยชน์เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ และสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ในการบริหารจัดการฟางข้าว ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สศท.9 ที่ 0 7431 2996 หรืออีเมล์ zone9@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวทิ้งท้าย
ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
E-mail : nabc@nabc.go.th
เบอร์โทร : 0-2579-8161
หากมีข้อสงสัยในการเข้าสู่ระบบ ติดต่อที่ e-mail:
nabc@nabc.go.th
นโยบายเว็บไซต์ | นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ |
นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล | แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ © 2022 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์