“ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” สินค้า GI จังหวัดยะลา
ประวัติความเป็นมาของทุเรียน
ชื่อของทุเรียนนี้มีผู้สันนิษฐานกันต่างๆ บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ทูลเรียน”แต่ในภาษามลายูมีคำหนึ่งเรียก หนามว่า “ดูรี” จึงน่าจะตีความใกล้เคียงกันเพราะทุเรียนก็เป็นผลไม้ที่มีหนามมากทั้งผล และในภาษามลายูก็เรียก ทุเรียนว่า “ดูเรน” ในภาษามอญเรียก “ดูเรน” คำว่าดูเรน หรือ ตูเรน นี้น่าจะแปลว่าผลไม้ ที่มีหนามก็ได้ ส่วนคำว่า ทุเรียนของเราคงจะมาจากรากศัพท์เดียวกัน
ทุเรียนที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออกซึ่งเป็นพันธุ์ป่าหรือพันธ์พื้นเมือง ซึ่งแต่ละต้นมีอายุยืนนับเป็นร้อยปี ทุเรียน เหล่านี้ขนาดใหญ่โตมากคล้ายกับต้นยาง ที่เอาไม้มาทำฝาเรือน โคนต้นโอบไม่มิด มีความสูงถึง 30 เมตร ต้นสูงชะลูดสูง มีกิ่งก้านสาขาอยู่เฉพาะเรือนยอดเท่านั้น มองดูไกลๆ เหมือนต้นยางที่สุด
ส่วนทุเรียนพันธุ์ดีนั้นเพิ่งจะมีมาประมาณ 100 กว่าปีมานี้ เดิมทีก็จะคงเป็นทุเรียนป่า แต่เมื่อมาปลูกได้รับการดูแลรักษาดี ดินดี และมีการผสมข้ามพันธุ์กันไปมา แล้วเอาเมล็ดมาปลูกก็กลายเป็นทุเรียนพันธุ์ ต่างๆ ต้นไหนไม่ดีนักก็ทำลายทิ้งไป รักษาต้นดีไว้จึงมีทุเรียนพันธุ์ต่าง ๆ ขึ้นมากมายหลายชนิด บางชนิดก็เป็นพันธุ์ดีมาก มีราคาสูง และชาวสวนก็รักษาไว้ขยายพันธุ์แพร่ขยายออกไป ยิ่งมาภายหลังความรู้ในการขยายพันธุ์ของชาวสวนดีขึ้น โดยเฉพาะการตอนต้นไม้ ทำให้พันธุ์ทุเรียนแพร่ขยายพันธุ์ออกไปอย่างรวดเร็ว
ต่อมาจากสมัยนั้น เรามีทุเรียนดีพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมากมายรวมแล้วเกือบ 200 พันธุ์ เช่นพันธุ์ก้านยาววัดสัก ก้านยาวหนามใหญ่ ก้านยาวบุญยัง จอมกบ (โครตกบ) กบตาขำ กบพลายชุมพล กบพระไวย กบขุนแผน กบเหมราช กบเม็ดใน กบเจ้าคุณ กบพลเทพ กบชมภู กบก้นป้าน กบตาแจ่ม กบตาเฒ่า กบตาน้อม กบตาม้วน กบตามาก กบตาอู๋ กบแม่เชื่อม กบยายพลับ กบตาเฒ่า กบตลุง กบทองคำ กบพวง กบสีนาค กบจำปา กบขุนนาค กบก้านทอง(ทองก้อน) กบง่อย กำปั่น กำปั่นเหลือง กำปั่นพวง กำปั่นแดง กำปั่นแดงใบป้อม กำปั่นแดงใบยาว กำปั่นตาแพ กำปั่นสีนาค การะเกดแม่เฒ่า กระปุกทองดี กระดุมทอง กระโปรงทอง กระเทยขาว กระเทยแดง กระเทยเหลือง กลีบสมุทร เขียว สะอาด ขั้วสั้นเงาะ จำปา ใบลาย จอกลอย จอมโยธา แตร ฉัตรทอง ฉัตรสีนาค ฉัตรขุนคลัง ชะนี ชายมะไฟ ชายมังคุด ชมพูศรี ชมพูภาน แดงยายมี แดงตาเผื่อน แดงสาวน้อย แดงตาน้อย แดงรัศมี ดาวกระจาย ตลับทอง ตลับนาค ตะกรวย คุ้มทอง ทองแดง ทองดี ทองเกลียว ทองย้อยเดิม ทองย้อยจักร ทองสวาท ทองใหม่ ทองประสี ทศกัณฐ์ (ตะโก) ทับทิม เทพรำพึง นมสวรรค์ นกกระจิบ นกยิบ บาตรทองคำ บาตรใหญ่ บาตรเขียว บางขุนนนท์ ปิ่นทอง เปิดถุง เปิดกบ พวงเงิน พวงฉัตร พวงมาลัย พระสมุทร ฟักทอง มะกอก เม็ดฝ่อ หมอนด่าน ฝ่ามะหวาด ย่ำเผละ ลวงทอง ลวงพุ่ม ลวงแดง ลวงเขียว ลวงมะชุม ลำเจียก เหลืองประเสริฐ เหลืองส้มป่อย ละเวง ศรีสุวรรณ สีสวาท สีชมพู สาแหรกทอง สาวน้อยเรือนงาม สีสุก สินสมุทร สุดสาคร สุครีพ หัวรั้งไอ้แอ็ด
ด้วยสภาพแวดล้อมที่ห้อมล้อมด้วยผืนป่า ภูเขา สายน้ำ แร่ธาตุในดิน จึงส่งผลให้คุณภาพของทุเรียนในพื้นที่แตกต่างจากแหล่งอื่น คือเนื้อทุเรียนแห้ง ไม่แฉะ รสชาติหวานมัน เส้นใยน้อย คุณภาพดี เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยม จนได้ชื่อว่า “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา”มีความเป็นอัตลักษณ์ทุเรียนประจำถิ่น ซึ่งปลูกในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอ ของจังหวัดยะลา
“ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นการนำทุเรียนสายพันธุ์ต่างๆ ของจังหวัดยะลาไปปลูกในพื้นที่ตามไหล่เขา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะทุเรียนคุณภาพ ปลอดสารเคมี ทำให้ทุเรียนมีความโดดเด่นด้วยรสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว เนื้อเเห้งละเอียด เส้นใยน้อย และเนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูก ได้แก่ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำ หรือ “โอฉี่” โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี
จากความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ได้ร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” ทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและมาเลเซียได้อย่างดี
โดยเนื้อที่ปลูกกระจายทั่วทุกพื้นที่ ลักษณะการปลูกข้างบ้าน สวนผสม และปลูกร่วมกับพืชอื่น ๆ ส่วนสภาพการผลิตเชิงการค้าที่เป็นสวนเดี่ยว มีแหล่งปลูกที่สำคัญในพื้นที่ อ.เบตง อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา ซึ่งเป็นพื้นที่สูง และภูเขา ท่ามกลางผืนป่าธรรมชาติ หุบเขา สายน้ำ ทะเลสาบบนภูเขา และทะเลหมอก โอบล้อมด้วยผืนป่าฮาลาบาลา
จุดเด่นของ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” นอกเหนือจากการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP แล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เน้นการใช้สารเคมี แต่จะเน้นวิถีธรรมชาติในการจัดการสวน เน้นความปลอดภัยจากระดับผู้ผลิตจนถึงผู้บริโภคและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อปรับระบบการผลิตและการจัดการสวนอย่างถูกต้องเหมาะสม ตรงตามปฏิทินการเจริญเติบโตของทุเรียน ลดต้นทุนการผลิตด้วยการจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสม มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการผสมปุ๋ยใช้เอง
กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศให้ วันที่ 23 กันยายน 2564 “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดยะลา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนเเละมาเลเซีย สร้างความเข้มเเข็งให้เศรษฐกิจชุมชนไทย กระจายรายได้สู่เกษตรกร รายย่อย เนื่องด้วยรสชาติและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
คำนิยาม
ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา (Sa-Ded Nam Yala Durian หรือ Durian Sa-Ded Nam Yala) หมายถึง ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธ์พวงมณี พันธุ์มูชังคิง และพันธุ์หนามดำหรือโอฉี มีลักษณะเนื้อแห้ง ละเอียด เส้นใยน้อย เนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเข้มตามแต่ละสายพันธุ์ มีกลิ่นเฉพาะตัว ตามสายพันธุ์ รสชาติหวานมัน ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป ในเขตพื้นที่จังหวัดยะลา
ลักษณะของสินค้า
(1) พันธุ์ทุเรียน : พันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ชะนี พันธุ์พวงมณี พันธุ์มูจังคิง และพันธุ์หนามดำหรือโอโอฉี
(2) ลักษณะทางกายภาพของทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลาจำแนกตามพันธุ์
2.1) พันธุ์หมอนทอง ผลมีลักษณะเป็นทรงขอบขนาน ทรงผลค่อนข้างยาวมีบ่าผล ปลายผลมีขนาดใหญ่ พูมักไม่ค่อยเต็มทุกพู หนามแหลมตรงสูง ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กวางแซมอยู่ทั่วไป เรียกหนามนี้ว่า เขี้ยวงู ก้านผลใหญ่แข็งแรง เนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อละเอียดและแห้ง ไม่แฉะติดมือ รสชาติหวานมัน เมล็ดเล็กและลีบเป็นส่วนใหญ่
(2.2) พันธุ์ก้านยาว ผลมีลักษณะกลม ผลมีขนาดปานกลาง เห็นฟูไม่ชัดเจน พูเต็มทุกพู หนามเล็กถี่สั้นสม่ำเสมอเรียงเป็นระเบียบ ก้านผลใหญ่และยาวกว่าพันธุ์อื่น เปลือกค่อนข้างหนา เนื้อเนียนละเอียด สีเหลืองปานกลาง รสชาติหวานมัน เมล็ดค่อนข้างกลมใหญ่
(2.3) พันธุ์ชะนี ผลมีลักษณะเป็นทรงกระบอกหรือทรงรี ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ ร่องพูค่อนข้างลึกเห็นได้ชัด ขั้วผลใหญ่และสั้น หนามมีขนาดใหญ่และสั้น ระยะหนามห่างกัน เนื้อเยอะ เนื้อละเอียดสีเหลืองเข้มมีกลิ่นแรงและมีรสจัด รสชาติหวานมัน เมล็ดค่อนข้างเล็กและมีจำนวนน้อย
(2.4) พันธุ์พวงมณี ผลมีลักษณะกลมรี ปลายผลแหลม ลักษณะฐานผลบ้าน ความยาวก้านผลปานกลาง
รูปร่างก้านผลขอบนูน และมีรูปร่างหนามผลนูน ปลายแหลม ผลมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์อื่น เนื้อค่อนข้างน้อยสีเหลืองเข้ม เนื้อละเอียด เส้นใยน้อยมาก รสชาติหวานมัน
(2.5) พันธุ์มูซังคิง ผลมีลักษณะกลมหรือกลมรี ส่วนใหญ่ผลมีขนาดเล็ก ภายนอกเห็นพูไม่ชัดเจนหนามเว้าปลายแหลม บริเวณปลายฐานผลมนไม่มีหนาม ก้นผลมองเห็นเป็นดาวห้าแฉกชัดเจน บริเวณฐานรองขั้วผลนูนคล้ายรูปมงกุฎ เปลือกบาง เนื้อมาก สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้งและละเอียดเหนียว มีเส้นใยน้อย รสชาติหวานมันเมล็ดเล็ก ลีบบาง
(2.6) พันธุ์หนามดำหรือโอฉี่ มีลักษณะทรงผลสวย ผลมีขนาดใหญ่ เปลือกบาง เนื้อมาก สีเหลืองอมส้ม(เหมือนทองคำ) เนื้อละเอียดเนียน รสชาติหวานมันหรือหวานแหลม มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เมล็ดเล็กลักษณะเด่นของพันธุ์จะสังเกตได้จากไส้แกนกลางของผลจะมีสีสนิมอยู่และปลายหนามมีสีดำ เมื่อแก่จัดส่วนกลางก้นผลมีร่องรอยของเกสรตัวเมียแห้งดำติดอยู่ ซึ่งจะไม่พบเห็นในทุเรียนสายพันธุ์อื่น
กระบวนการผลิตทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา
การปลูก
(1) การปลูกทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลาสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ที่เหมาะสมควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
(2) ต้นพันธุ์ต้องเป็นตันพันธุ์ที่แข็งแรง ลักษณะถูกต้องตามสายพันธุ์ ต้นตอเป็นพันธุ์พื้นเมืองต้นพันธุ์ ต้องนำมาจากแหล่งต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพเชื่อถือได้
(3) แหล่งปลูกควรเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี ปลูกตามไหล่เขาพื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป และควรเป็นพื้นที่ลาดเอียง
(4) การเตรียมพื้นที่สำหรับแปลงปลูกทุเรียน ต้องกำจัดวัชพืช ไถชุดตอรากไม้เก่า และปรับพื้นพื้นที่วางแนวกำหนดแถวปลูกตามความเหมาะสมของพื้นที่ พร้อมปรับพื้นที่ไม่ให้มีน้ำท่วมขัง และคำนึงถึงถึงการวางระบบน้ำในแปลงปลูกด้วย
(5) ระยะปลูก 8 x 8 เมตร ถึง 10 x 10 แมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่
(6) เตรียมดินโดยการขุดหลุมขนาด 1 x 1 เมตร หรือตามความเหมาะสม และนำดินที่ขุดมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ก่อนนำต้นทุเรียนลงดิน
(7) ปักไม้หลักข้างต้นทุเรียนที่ปลูก พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้เพื่อป้องกันลมพัดโยก และจัดทำร่มเงาสำหรับต้นทุเรียนปลูกใหม่
การให้น้ำ
(1) ทุเรียนที่ยังให้ผลผลผลิตและอยู่ในช่วยเจริญเติบโด ต้องให้น้ำอย่างน้ำแสมอ
(2) ทุเรียนในช่วงก่อนออกดอกต้องงดให้น้ำ เพื่อกระตุ้นการออกดอก เมื่อออกดอกแล้วให้ควบคุมปริมาณน้ำ และให้น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงช่วงก่อนดอกบา
(3) ทุเรียนในช่วงหลังดอกบาน ให้ลดปริมาณน้ำเหลือ 1/3 ส่วนของปริมาณน้ำปกติ เพื่อช่วยในการติดผล หลังจากนั้นให้เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อย ๆ และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงพัฒนาการของทุเรียน หรือ ตามความ เหมาะสมของพื้นที่
การดูแลรักษา
(1) การตัดแต่งกิ่ง ปีที่ 1 – 2 ไม่ควรมีการตัดแต่งกิ่ง ปีต่อไปควรตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งกระโดง ในทรงพุ่ม กิ่งที่เป็นโรคออก หลังการเก็บเกี่ยวต้องตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งเบียดเสียด เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งแสง และควรควบคุม ความสูงของต้น
(2) ป้องกันกำจัดโรคที่เกิดกับใบ โรครากเน่าโคนเน่า และควบคุมวัชพืช
(3) การใส่ปุ๋ย ควรจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของทุเรียน สามารถใส่ได้ทั้งปุ๋ย อินทรีย์และปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป
การเก็บเกี่ยว
(1) เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน หรืออาจจะคลาดเคลื่อนเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละปี
(2) ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวผลทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา จะนับจำนวนวันหลังวันดอกบาน จนถึงวันทุเรียนแก่พร้อมเก็บเกี่ยวให้เหมาะสมในแต่ละ สายพันธุ์
(3) วิธีสังเกตลักษณะทุเรียนแก่
(3.1) ก้านผล จะแข็งและมีสีเข้มขึ้น สากมือ บริเวณปากปลิงจะบวมโต เห็นขอบชัดเจน
(3.2) หนามผล ปลายหนามแห้ง เปราะและหักง่าย ร่องหนามห่าง
(3.3) รอยแยก ระหว่างผลจะสังเกตรอยแยกบนพูได้เด่นชัด (ยกเว้นบางพันธุ์ เช่น ก้านยาว)
(3.4) ชิมปลิง เมื่อตัดขั้วผล (ปลิง) จะพบน้ำใสไม่ข้นเหนียว เมื่อชิมจะมีรสหวาน
(3.5) เคาะเปลือกหรือกรีดหนาม จะมีเสียงดังหลวมๆ
(4) ขณะเก็บเกี่ยวทุเรียน ห้ามวางทุเรียนกับพื้นดิน
การบรรจุหีบห่อ
(1) รายละเอียดบนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ ให้ประกอบด้วยคําว่า “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” หรือ “Sa-Ded Nam Yala Durian” หรือ “Durian Sa-Ded Nam Yala”
(2) ให้ระบุ ชื่อพันธุ์ทุเรียน ชื่อสวน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่อยู่ที่ติดต่อได้ หรือข้อความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา (TURIAN SADED NAM YALA)
จากสภาพพื้นที่สูง เนินลูกฟูก เชิงภูเขา ท่ามกลางธรรมชาติสุดสายตา หุบเขา สายน้ำ ทะเลสาบบนภูเขา และทะเลหมอก โอบล้อมด้วยผืนป่าฮาลาบาลา คือ พื้นที่ปลูกทุเรียนหลากพันธุ์ของจังหวัดยะลา เป็นแหล่งบ่มเพาะทุเรียนคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมี ทำให้เนื้อแห้ง เหนียวเนียนนุ่ม รสชาติหวานมันม มีฉายาว่าทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา
ชั้นคุณภาพระดับพรี่เมี่ยม (Premium Class) ทุเรียนทั้งผลมีขั้ว ตรงตามพันธุ์ ผลทุเรียนต้องแก่ได้ที่ตามอายุจากดอกบานของแต่ละพันธุ์
1.ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง
– ผลมีพูเต็ม 4 พูขึ้นไป
– น้ำหนักผลเฉลี่ย 3 กิโลกรัม
– เนื้อหนาสีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งไม่และติดมือ
2.ทุเรียนพันธุ์ชะนี
-ผลมี 4 พูขึ้นไป
-น้ำหนักผลเฉลี่ย 3 กิโลกรัม
-เนื้อหนาสีเหลืองจำปา เนื้อแห้งละเอียดอ่อนนุ่ม
3.ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว
-ผลกลม มีพูเต็มทุกพู
-น้ำหนักผลเฉลี่ย 3 กิโลกรัม
-เนื้อหนาปานกลาง สีเหลือง เนื้อเนียนละเอียด
4.ทุเรียนพันธุ์พวงมณี
-ผลกลมรี มีพูเต็มทุกพู
-น้ำหนักผลเฉลี่ย 1 กิโลกรัม
-เนื้อหนาปานกลาง สีเหลืองเข้มเนื้อละเอียดเหนียวนุ่ม
5.ทุเรียนพันธุ์มูซังคิง
-ผลกลมรี มีพูเต็มทุกพู
-น้ำหนักผลเฉลี่ย 2 กิโลกรัม
-เนื้อหนาสีเหลือง เนื้อเนียนเหนียวนุ่ม
6.ทุเรียนพันธุ์โอวฉี่ (หนามดำ)
-ผลมีพูเต็ม 4 พูขึ้นไป
-น้ำหนักผลเฉลี่ย 2 กิโลกรัม
-เนื้อหนาสีเหลืองอมส้ม เนื้อละเอียดเหนียวนุ่ม
แสดงความคิดเห็นของคุณ
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น